วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เมื่อทรงพระเยาว์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ขณะยังทรงพระเยาว์

                 หลังจากประสูติแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ

              ขณะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”


              ระหว่างทรงพระเยาว์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฎบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม

              จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ในอดีต ตำหนักแห่งนี้ประทานนามว่า สวนรื่นฤดี มีนายหมิว อภัยวงศ์ เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต) เป็นวิศวกร (ต่อมาได้ทรงขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองทัพบก) สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงพระอักษรเบื้องต้นโดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค โสณกุล, ครูพิศ ภูมิรัตน ฯลฯ จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) แล้วจึงทรงศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ ตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น